พีนัทบอสบล็อกกลับมาแล้วครับ

พีนัทบอสบล็อกกลับมาแล้วครับ

ถั่วลิสงเป็นพืชที่ควรหมุนเวียนในระบบปลูกพืชของไทย

ยินดีต้อนรับกลับบ้าน เรื่องราวในบล็อกจะถูกจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ ร่วมสร้างชุมชนออนไลน์คุณภาพ
17 มีนาคม 2554
     เรื่องโรคแมลงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่พูดถึง สาเหตุมาจากในปีนี้มีการระบาดอย่างหนักในแปลงเพาะปลูกของผมเอง และภาคอิสานเกือบทุกพื้นที่ ดังนั้นผมจึงไปค้นข้อมูล และเอาประสบการณ์ตัวเองมาแชร์เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพลี้ยไฟและโรคยอดไหม้ มากขึ้นกว่าเดิมนะครับ
    ความรู้เรื่องเพลี้ยไฟและโรคยอดไหม้หาในโลกออนไลน์ก็พอมีครับ แต่ก็เป็นข้อมูลที่ก็อบๆกันมาของกรมวิชาการครับ  แต่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ครับ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับการดื้อยาของแมลงศัตรูพืชเกิดขึ้นได้ง่ายมากเนื่องจากบางพื้นที่มีการใช้ยามากเกินความจำเป็น อีกทั้งยังใช้ยาตัวเดิม ซ้ำๆ ทำให้การระบาดรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี
   ปีนี้ถั่วลิสงถือว่าหนักหนาสาหัสกับเพลี้ยทุกชนิด เริ่มจากอากาศที่หนาวเย็นยาวนานมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาทำให้ เพลี้ยอ่อนถั่ว ซึ่งเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงยอดถั่ว ทำให้ยอดหยิกงอ ไม่ลงเข็มแล้ว
ยังเจอ เพลี้ยจั๊กจั่น ซึ่งก็ดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบ ทำให้ใบมีลักษะเป็นปื้นไหม้ หนำซ้ำ ยังเจอ เพลี้ยไฟ ศัตรูหมายเลข 1 ในช่วงนี้ ซึ่งระบาดในช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง เข้าดูดกินน้ำเลี้ยงในใบถั่ว ยอด ตาดอกแล้ว ยังเป็นพาหะ โรคยอดไหม้ (GBNV) ซึ่งสร้างความเสียหายให้ถั่วลิสง ชนิดที่เรียกว่า "ตายยกแปลง" มาแล้วหลายพื้นที่ 
  โรคยอดไหม้ต้องพูดว่าผมเจอโรคนี้ในปี 2549 นี่เอง ซึ่งเพิ่งพบเนื่องจากปรากฏการณ์ เอลนิญ่า ทำให้ฝนทิ้งช่วง เพลี้ยไฟระบาดอย่างหนักในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคอิสาน แปลงปลูกผมเองตายมากกว่า 60 % เกิดกับทุกช่วงอายุของถั่วลิสง โดยเฉพาะสองอาทิตย์หลังงอก  
   การสังเกตการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ สังเกตที่ใบมีลักษณะด่าง ซีด เป็นกระลาย ใบแห้ง หยิกงอ บิด ซึ่งมักพบการระบาด หนักในช่วงฝนทิ้งช่วง ในปีนี้เองในบางพื้นที่ยังไม่มีฝนตกเลยแม้แต่ครั้งเดียว เป็นเหตุให้แมลงระบาดมากที่สุดในรอบหลายปี บริษัทยาต่างยิ้มร่า เมื่อยอดในปีที่ผ่านมาและปีนี้ยอดทะลุเป้า จนอดนึกไม่ได้ว่า เอาเพลี้ยไฟมาปล่อยในแปลงผมหรือเปล่าหว่า.......555 เดี๋ยวเจ้าของบริษัทจะมาทำร้ายร่างกายผมล่ะ ไม่หรอกครับ ต้องยอมรับกันก่อนว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลทำให้การเกษตรเองต้องปรับวิธีการ กันแบบว่าต้อง ยกเครื่อง เป็นโอกาสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องโชว์ฝีมือทดลอง วิจัย เพื่อให้การเกษตรไทยยังเป็นหัวใจสำคัญแหล่งอาหารโลกต่อไป 
  เพลี้ยไฟมาไม่ได้มาเปล่านะครับ เป็นพาหะนำโรคยอดไหม้มาด้วย โรคยอดไหม้ ผมค้นข้อมูลที่สามารถให้คำตอบและมีภาพประกอบให้ดูแล้วเข้าใจต้องไปที่เวบไซต์ของกรมวิชาการนะครับเด่วผมโพสต์ข้างล่าง ส่วนผมขออธิบายแบบบ้านๆ นะครับ ว่าลักษณะอาการตามที่เห็นว่า เมื่อถั่วลิสงได้รับเชื้อแล้ว จะแสดงอาหาร ยอดเหี่ยวโค้งงอ แตกช่อมาก ดอกหล่น อีกไม่นานก็จะตายยุบทั้งต้น ซึ่งบางทีจะเห็นชัดตอนเราให้น้ำ จะตายยุบเป็นแถบ โดยใบล่างสุดจะไหม้เหลือง ยอดยุบ ตายในที่สุด บางทีตายยกแถวก็มีครับ จนต้องร้องเพลง "มันต้องถอน" เพราะสงสัยว่ามันเป็นไรถึงพร้อมใจกันตายได้มากกว่าขนาดนี้ 
เรื่องการแก้ไขปัญหาหรือลดการระบาดได้ดีเท่าที่ผมสังเกตุสังกาด้วยสองตาคือ การเลื่อนวันปลูกมีผลที่น่าพอใจ อีกทั้งเราจะได้ไม่ต้องเพิ่งสารเคมี ซึ่งนับเป็นทางออกที่ดี คือวางแผนการทำนาโดยใช้ข้าวพันธุ์เบาในแปลงที่เราจะปลูกถั่วลิสง ซึ่ีงยังไงก็แล้วแต่เราควรปลูกถั่วลิสงในช่วงปลายตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ดีที่สุด หลายพื้นที่ปลูกปลายเดือนธันวาคม เจอการระบาดหนักกว่าแปลงที่อยู่ข้างๆกัน วิธีการปลูกเหมือนกันแต่ปลูกคนละวัน พบความแตกต่างของการระบาดโรคแมลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนสารเคมีที่ใช้ได้ดี คือ ฟิโฟนิล ชนิดน้ำ ฉีดพ่นเมื่อพบการระบาดของเพลี้ยไฟ พ่นซ้ำอีกสักสองสามครั้งทุก 3-5 วัน ช่วยลดจำนวนเพลี้ยไฟได้ดีครับ วิธีกลอีกวิธีผมถามท่าน ดร.ท่านนึงบอกว่า การใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์ช้วยลดการระบาดของเพลี้ยไฟได้ เพราะเพลี้ยไฟมีปีกเหมือนนก เมื่อปีกถูกน้ำก็บินไม่ได้ครับและตายไปในที่สุด นั่นคือหากมีระบาดของเพลี้ยไฟแล้วฝนตกสักสองสามครั้ง ก็ช่วยให้อะไรๆดีขึ้นครับ อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้คือ การปลูกระยะชิดขึ้น อาจใช้ระยะปลูก 15 cm. ก็ได้ครับ







    ยังไงๆเราก็ต้องเรียนรู้และใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะผมยกย่องพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรของผมในเรื่องการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาโดยตลอด การใช้สารสกัดอินทรีย์ก็ได้ครับ ต้องทดลอง ทดสอบนะครับ ดีกว่าปล่อยให้พืชที่เรารอคอยผลผลิตเสียหายไปต่อหน้าต่อตา เรียนรู้ร่วมกัน บูรณาการร่วมกันครับพี่น้องงงงงงงงงงงง.............
คำอธิบายรูปภาพครับ เรียงจากข้างบนลงมานะครับ
รูปที่ 1 (บนสุด)- นั่นล่ะครับ เพลี้ยอ่อนถั่ว(ยึ๋ย)
รูปที่ 2 - เพลี้ยจั๊กจั่นครับ ตัวเขียวๆๆ บินไวๆใช่เลย
รูปที่ 3 - ลักษณะการตายอันสาเหตุจากเชื้อ ไวรัส (GBNV)
รูปที่ 4 - ยอดเหี่ยวพับ ยุบ ตาย
รูปที่ 5 - ลักษณะการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ ใบกระ ซีดเหลือง
รูปที่ 6 - การพ่นสารเคมีก็มีความจำเป็นหากพบการระบาด ฟิโฟนิลที่ผมใช้
รูปสุดท้าย (ล่างสุด) - ระยะออกดอกยังไม่เหลือครับ

1 comments:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จำหน่ายถั่วลิสงคุณภาพดี ไซร์ 80-90 ราคากิโลละ 40 บาท นุช 0865117663

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณทุกเสียงครับเรียนรู้แลกเปลี่ยนแบ่งปัน